ระเบียบรถร่วมบริษัทขนส่ง จำกัด
ระเบียบ และคู่มือรถร่วมบริษัทขนส่ง จำกัด
พุทธศักราช 2547
ด้วยเห็นเป็นการสมควร บริษัทขนส่ง จำกัด จึงให้กำหนดระเบียบรถร่วม พ.ศ.2547 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ บริษัทขนส่ง จำกัด ในการประชุมครั้งที่ 7/2547 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ดังนี้
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบรถร่วม บริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2547"
ข้อ 2. เมื่อระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ บรรดาระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ยกเลิกเสียทั้งสิ้น
ข้อ 3. ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
ข้อ 4. ในระเบียบนี้
(1) "บริษัท" หมายความว่า บริษัทขนส่ง จำกัด
(2) "รถร่วม" หมายความว่า รถโดยสารที่บริษัทให้สิทธิแก่เจ้าของรถร่วมนำเข้าเดินประจำเส้นทางเดินรถโดยสาร ประจำทางที่บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยเจ้าของรถร่วมได้ทำสัญญารถร่วมไว้กับบริษัท และบริษัท ได้จัดรถเข้าเดินรถในเส้นทางแล้ว "เจ้าของรถร่วมยินยอมจดทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเดินรถกับบริษัท"
(3) "เจ้าของรถร่วม" หมายความว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือสิทธิในการใช้รถโดยสาร โดยนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สัญญารถร่วมกับบริษัท
(4) "สัญญารถร่วม" หมายความว่า สัญญาสองฝ่าย ที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทฝ่ายหนึ่งกับเจ้าของรถร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีข้อตกลงกันว่า เจ้าของรถร่วมยินยอมจดทะเบียนรถเข้าร่วมกิจกรรมเดินรถกับบริษัท และบริษัทยินยอมให้เจ้าของรถร่วม ได้รับประโยชน์จากการนำรถเข้าเดินในเส้นทาง
(5) "พนักงานรถร่วม" หมายความว่า พนักงานขับรถ, พนักงานเก็บค่าโดยสาร, นายตรวจ, พนักงานบริการ และพนักงาน จำหน่ายตั๋วประจำสถานี
(6) "ผู้จัดการ" หมายความว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด หรือผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด
(7) "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการบริษัทขนส่ง จำกัด
ข้อ 5. ในกรณีมีปัญหาในการตีความหรือการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ผู้จัดการเป็นผู้พิจารณาตัดสินปัญหาหรือข้อโต้แย้งใด ๆ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด กรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นหรือกรณีพิพาทอื่นใดระหว่างบริษัทกับเจ้าของรถร่วม ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัย หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการไม่เป็นที่ยอมรับให้ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณา และวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการ 1 คน เป็นประธานตัวแทนของฝ่ายจัดการบริษัท 1 คน และตัวแทนจากเจ้าของรถร่วม 1 คนเป็นกรรมการ หากคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการไม่เป็นที่ยอมรับให้คู่กรณีนำคดีขึ้นฟ้องได้ที่ศาลแพ่ง หรือศาลแขวงในเขตกรุงเทพมหานคร