ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

A- A A+

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการขนส่ง

30-12-2557

(9)

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการขนส่ง

จาก Mini Econ รุ่นที่ 2 บขส.
ข้อมูล ณ วันที่ 11/07/45

 

     "ขนส่ง" หมายถึง การขนและการส่ง หรือการนำไปและนำมาได้แก่ การขนส่งสิ่งของหรือสัตว์ที่ไม่สามารถจะเคลื่อนตัวเองได้ จากจุดหนึ่งเพื่อส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ในขณะที่การนำไปและนำมา คือนำคน-มนุษย์หรือผู้โดยสารที่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ตามเครื่องหมาย สากล ไปยังจุดหมายปลายทางได้ การขนส่งที่เราจะศึกษาต่อไปจะหมายถึงการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและส่งของเพื่อ เพิ่ม ความพึงพอใจในการเปลี่ยนสถานที่
องค์ประกอบที่สำคัญของการขนส่ง ได้แก่

     1. เส้นทาง (WAY)
     2. สถานี (TERMINAL)
     3. พาหนะ (CARRYING UNIT)
     4. เครื่องขับเคลื่อน (MOTIVE POWER)

     1. เส้นทาง (WAY) หมายถึงปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับพาหนะในการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีก จุดหนึ่ง แบ่งออกเป็น
          1.1 ประเภทของทาง
               ก. ทางธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง ได้แก่ ลำน้ำ ทางเดินในป่า เขา ท้องฟ้า
               ข. ทางธรรมชาติ ที่ได้รับการปรับปรุง ได้แก่ ลำน้ำธรรมชาติ ที่ต้องขุดลอกเนื่องจากเรือไม่สามารถจะผ่านไปได้
               ค. ทางมนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ถนนลอยฟ้า ถนนใต้ดิน หรือการขุดอุโมงค์ผ่านภูเขาหรือใต้ช่องแคบ เพื่อให้รถหรือรถไฟผ่านไปมาได้

          1.2 สิทธิในทาง (เจ้าของ) เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ว่าบก น้ำ อากาศ เช่น ถนน จะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการลงทุนทั้งจากเอกชน หรือรัฐบาล ดังนั้น ถ้าถนนนั้นใช้เงินจากภาษีและค่าธรรมเนียมในการจัดสร้างถนนก็ควรเป็นถนน สาธารณะ ผู้ใช้ถนนก็ควรจะเป็นผู้จ่ายเงินบำรุงรักษาสภาพของถนนในรูปของภาษีรถยนต์ ประเภทต่าง ๆ และภาษีน้ำมันปัจจุบันเอกชนผู้หวังกำไรจากธุรกิจสร้างถนนยกระดับหรือทางด่วน ได้จัดสร้างถนนเหล่านี้ให้สาธารณชนใช้ โดยผู้ใช้ทางเหล่านี้ต้องจ่ายเงินเป็นค่าจัดทำ ค่าบำรุงรักษาทาง และกำไรแก่ผู้สร้าง การจ่ายเงินอาจจะคิดจากประเภทของพาหนะหรือระยะทาง ฯลฯ

          1.3 การควบคุมการใช้ทาง ผู้จัดการทางจะต้องจัดหาเครื่องหมายแสดงเครื่องหมายจราจรตามกฎระเบียบ ของแต่ละสังคมเพื่อบังคับให้ผู้ใช้ทางปฏิบัติตาม เพราะถ้าผู้ใช้ทางไม่สามารถปฏิบัติตามได้ย่อมก่อให้เกิดการขัดข้อง ในการใช้ทางร่วมกันหรือที่เรียกว่า "อุบัติเหตุ" ดังนั้นในการขั้นหรือลงของเครื่องบินจึงต้องมีเครื่อง เรดาร์ควบคุมการจราจรทางอากาศ เครื่องหมายในการควบคุมการใช้ทางร่วมกัน อาจจะอยู่บนทาง หรือเหนือทาง เช่น เส้นแบ่งช่องถนน หรือป้ายบอกลักษณะของทาง

          1.4 ลักษณะเฉพาะของทางชนิดต่าง ๆ
               ก. ถนน ถนนส่วนใหญ่จะเป็นถนนสาธารณะ ผู้ใช้ถนนไม่ต้องจ่ายเงินเมื่อใช้ แต่ถ้าเป็นถนนยกระดับหรือสะพาน ผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าใช้ทาง ถนนส่วนใหญ่จะมีขอบข่ยกว้างขวางและเชื่อมโยงกับเส้นทางอื่น เช่น รถไฟ เรือ เครื่องบิน โดยผ่านสถานีผู้โดยสารหรือสถานีสินค้า นอกจากนี้ ถนนยังมีคุณสมบัติเหนือทางอื่น ๆ ตรงที่เป็นบริการประเภท "ประตูสู่ประตู" ไม่ว่าจะส่งสินค้าหรือผู้โดยสาร เช่นการใช้บริการแท็กซ่ วิทยุ ที่สามารถรับผู้โดยสารจากบ้าน (ประตูรั้ว) ไปยังประตูที่ทำงาน พาหนะที่วิ่งอยู่บนถนนต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน การที่รถคันหน้าเสีย (ตาย) บนถนนก็ไม่อาจทำให้พาหนะคันอื่น ๆ หยุดได้ พาหนะคันอื่น ๆ จะหลบจากเส้นทางแล้วเลือกใช้ทางอื่นต่อไป

               ถนนจะมีอายุยืนยาวมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาและการใช้งานถนนแต่ละ สายมีความสามารถในการ รับน้ำหนักจากการบรรทุกไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าจะรักษาอายุของถนนให้ยืนนานจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ การใช้ถนน ถ้าผู้ใช้ถนนคิดว่าควรรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ ควรจัดสร้างถนนให้รับน้ำหนักที่ต้องการได้เพราะต้อง การเงินลงทุนที่สูงกว่ามากในปัจจุบันมาก การบรรทุกเกินน้ำหนัก จะทำให้ถนนมีอายุสั้นกว่าการใช้งาน และยัง ทำให้ผู้ใช้ทางร่วมไม่ได้รับความสะดวกจากความเสื่อมถนน จะต้องเป็นผู้รับภาระภาษีที่จะต้องนำไปซ่อมแซมถนน ตลอดจนค่าซ่อมแซมพาหนะที่เสียหายเมื่อผ่านถนนที่พิการ เหล่านี้

               ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพาหนะที่ใช้ถนนในปัจจุบัน คือสภาพแออัดที่เกิดขึ้นจากความต้องการใช้พื้นที่ถนนมากกว่าพื้นที่ถนน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือเมื่อเกิดฝนตกน้ำท่วมขัง (ใน กทม.) เพื่อหนีปัญหาดังกล่าว จึงเกิดระบบ one way ช่องทางพิเศษ การห้ามจอด ระบบไฟจราจรคอมพิวเตอร์ แต่ปัญหาสภาพจราจรติดขัดนั้น ไม่อาจแก้ได้จากเครื่องมืออิเล็กโทรนิคเพียงอย่างเดียว จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้รถ ถนน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าใจระบบจราจรจริง ๆ

               ข. ราง เส้นทางรางเริ่มขึ้นจากเส้นหลักคู่ขนานกันไปตาม ช่องห่างของรถไฟที่อยู่ข้างบน และเมื่อต้องการจะให้รถอีกขบวนผ่านไปต้องทำรางคู่แยกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ เรียกว่าระบบหลักปัจจุบัน กิจการรถไฟในหลาย ๆ ประเทศได้ใช้ระบบรางคู่ โดยไม่ต้องหลีกกันอีกต่อไป

               ความเร็วของรถไฟประเภทเหล็ก 2 ข้าง (คู่) ขึ้นอยู่กับความห่างของราง ยิ่งรางกว้างความเร็วยิ่งไปได้สูงขึ้น รถรางสมัยใหม่มีเพียง 1 ราง ส่วนใหญ่จะวิ่งอยู่เหนือถนน ดังเช่น รถไฟฟ้า กรุงเทพมหานคร

               ระบบรางมีข้อเสียเปรียบตรงที่ไม่สามารถขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าได้จากประตูสู่ประตู และความล่าช้าเพราะต้องจอดบ่อย ๆ จนทำให้ไม่สามารถแข่งกับระบบถนนในระยะทางขนาดกลางได้ แต่ถ้ายิ่งไปไกลระบบรางจะได้เปรียบมาก

               ค. ทางน้ำ (คลอง แม่น้ำ) ส่วนมากเกิดขึ้นตามธรรมาชาติและล่องน้ำที่ได้ปรับปรุงแล้ว เพื่อให้เดินเรือได้สะดวกพื้นน้ำ ไม่ต้องซ่อมแซมเหมือนถนนแต่จะต้องจัดให้มีพอที่จะให้พาหนะ (เรือ) วิ่งได้ทุกฤดูกาล ทั้งคู คลอง แม่น้ำ จะต้องได้รับการดูแลร่องน้ำและเขื่อนริมฝั่งน้ำ การขนส่งทางน้ำเป็นทางเลือกในการขนส่งอีกทางหนึ่งที่มีราคาถูก แต่ช้า จึงเหมาะแก่การขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น ทราย ข้าว

               ง. ทางน้ำ (ทะเล มหาสมุทร) ทะเล มหาสมุทร เป็นทางน้ำที่ดีที่สุดของเส้นทางน้ำอื่น ๆ เป็นทางน้ำที่สามารถเชื่อมระหว่างพื้นดิน ทวีป เช่น ทวีปเอเชียกับอเมริการเหนือ ใต้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่มากและมีอาณาเขตที่กว้างไกล ทำให้พาหนะเรือเดินสมุทร สามารถใช้ความเร็วสูง ๆ ขนาดที่ใหญ่จนสามารถจุสนามบอล สระน้ำโอลิมปิค การขนส่งทางทะเลจึงเหมาะสำหรับสินค้าและคนโดยสารที่มีเวลาหาความสำราญในเรือได้นาน ๆ

               จ. ทางอากาศ น่านฟ้าทั่วโลกที่ไม่มีขัดแย้งทางด้านการเมืองเป็นเส้นทาง ที่เกือบจะไร้พรหมแดนของการเดินทางทางอากาศ ถึงแม้จะเป็นการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับการขนส่งชนิดอื่น ๆ แต่ก็สามารถชดเชยได้รับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และปลอดภัยมากที่สุด

               ฉ. ทางท่อ เป็นการขนส่งสินค้าที่เป็นของเหลวหรือกึ่งของเหลว เช่น น้ำ แก๊ส น้ำมัน การขนส่งทางท่อมักจะฝังอยู่ใต้ดิน ป้องกันการรั่วไหลแต่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิ อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางท่อสามารถทำได้สะดวก แต่การลงทุนสูงกว่าการขนส่งประเภทอื่น ๆ

     2. สถานี
          2.1 หน้าที่ เนื่องจากการขนส่งสินค้าหรือผู้โดยสารโดยพาหนะประเภทต่าง ๆ ไม่สามารถวิ่งไปโดยไม่มีจุดหมายได้ และเมื่อถึงจุดหมายแล้วสถานีจะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
               ก. ให้บริการแก่พาหนะต่าง ๆ ตามความต้องการเฉพาะด้าน เช่น เติมน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนสิ่งอำนวยความสุขต่าง ๆ ในพาหนะ เช่น ของใช้ในห้องสุขา จัดเสบียงอาหารที่จะต้องใช้ตลอดเส้นทางการเดินทาง ตลอดจนการตรวจสภาพของพาหนะและเครื่องขับเคลื่อน
               ข. ให้มีการเปลี่ยนพาหนะตามเส้นทาง และเปลี่ยนชนิดของพาหนะ เช่นการเปลี่ยนรถเมล์ใน กทม. ไปใช้รถ บขส. เพื่อเดินทางไปต่างจังหวัด หรือเครื่องบินระหว่างประเทศ เป็นเครื่องบิรภายในประเทศ หรือเปลี่ยนจากเครื่องบินมาเป็นรถเมล์หรือรถแท๊กซี่
               ค. อำนวยความสะดวกแก่การจราจรทุก ๆ ด้าน เช่น การจัดที่จอดรถ เครื่องบิน เรือ เพื่อให้รับบริการอันพึงมี แล้วจัดระบบการรับ-ส่ง ผู้โดยสารและสินค้า เพื่อให้เกิดกระแสไหลของพาหนะได้สะดวกรวดเร็วและปลอดจากภัย

นอกจากหน้าที่ที่ควรให้แก่พาหนะต่าง ๆ ที่มาใช้บริการสถานีข้างต้นแล้ว สถานียังมีหน้าที่ต่อผู้รับบริการ เช่น ผู้โดยสารและสินค้า/สิ่งของ ดังต่อไปนี้

                    ก. ขนถ่าย ผู้โดยสาร/สิ่งของ ขึ้น-ลง ยานพาหนะระหว่างขนส่ง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องจากการขนถ่ายด้วย
                    ข. เชื่อมโยง ระหว่างยานพาหนะของการขนส่งระบบเดียววัน/ต่างระบบสินค้า/ผู้โดยสาร จะต้องใช้ยานพาหนะมากกว่า 1 ระบบ ในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง สถานึจึงเป็นจุดเชื่อมที่สะดวกสบายที่สุด
                    ค. รวบรวม ปริมาณขนส่งของผู้โดยสาร/สิ่งของ เพื่อให้มีปริมาณเหมาะสมแก่ขนาดของยานพาหนะ ตัวอย่างเช่น รถจักรยายส่งผู้โดยสารที่ป้ายรถเมล์เล็กในหมู่บ้าน รถเมล์เล็กนำกลุ่มผู้โดยสารไปส่งที่ปากซอย (ถนนใหญ่) เพื่อขึ้นรถ ขสมก. หรือรถ บขส.
               อนึ่ง ระยะเวลาของการขนถ่าย-เชื่อมโยง และรวบรวมผู้โดยสาร/สิ่งของ/สัตว์ ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการตกค้างของคน สัตว์ และสิ่งของ ที่ต้องการบริการต่อเนื่องมากมาย เช่น บริการการขนส่งข้อมูล-ข่าวสาร ที่นั่ง การบริการด้านอาหาร ห้องน้ำ ตลอดจนบริการอื่น ๆ ที่จะทำให้ผู้บริการได้ใช้เวลารอคอยได้อย่างเป็นสุข
          2.2 สถานที่ตั้งสถานี ควรอยู่ในที่ ๆ สะดวกแก่ผู้โดยสารและสินค้า ดังนั้น จึงควรอยู่ใกล้ชุมชน เช่น ในเมือง ศูนย์การค้า หรือชานเมือง จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบสำหรับผู้โดยสารและเครื่องมือในการขนถ่ายสินค้า ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การตั้งสถานีไม่ควรเพิ่มความแออัด จราจร แก่ท้องถิ่น และควรมีขนาดที่เหมาะสม และไม่เพิ่มสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษแก่ชุมชน

     3. ยานพาหนะ เปรียบเสมือนโรงงานหรือบ้านที่สามารถเคลือนที่ได้ตามเครื่องขับเคลื่อน ที่เหมาะสมกับความต้องการใช้และขนาดของยานพาหนะ

 

หลักสำคัญที่แบบ (Model) ยานพาหนะควรเป็นคือ
     ก. ตอบสนองตลาดให้มาก กว้างที่สุด
     ข. ให้เหมาะกับชนิดของทางแต่ละชนิด
     ค. เหมาะกับปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร/สินค้า
     ง. เหมาะกับสภาพแวดล้อมของการใช้งานมากที่สุด
     จ. คนผลิตแบบ MASS PRODUCTION ในราคาถูกสุด
          3.1 ยานพาหนะทางถนน
               ก. รถโดยสาร รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถเมล์สองแถว รถเมล์เล็ก รถเมล์ ขสมก./บขส. รถแวนส์ รถแท็กซี่ รถตู้ รถยนต์ รถเมล์เลขทะเบียน 10 หรือ 30 ฯลฯ ยานพาหนะทางบกนี้ ต่างออกแบบเพื่อใช้กับระยะทาง ปริมาณขนส่ง และความสะดวกสบายต่าง ๆ กัน
               ข. รถบรรทุกสินค้า ได้แก่ รถกระบะ รถสิบล้อ รถสิบล้อพ่วง รถกึ่งพ่วง รถบรรทุกของเหลวต่าง ๆ รถบรรทุกปูนผสม ฯลฯ ต่างได้รับการออกแบบให้เหมาะกับสภาพถนนและน้ำหนักบรรทุก ในสภาพจราจรปัจจุบันรถบรรทุกสินค้าเหล่านี้ต้องเผชิญกับเวลาวิ่งเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น
               ค. รถประเภทล้อเลือ่นอื่น ๆ ได้แก่ รถเข็นอาหาร น้ำ และรถสามล้อถีบที่ใช้ในการบรรทุกทั้งสินค้าและผู้โดยสาร
          3.2 ยานพาหนะทางราง
               รถไฟหรือรถรางเหมาะสำหรับในเมือง ชานเมือง และระยะไกล เพราะมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ให้บริการได้ครั้งละมาก ๆ สามารถปรับตัวตามปริมาณการขนส่งได้ง่ายโดยการลดหรือเพิ่มรถพ่วง มีความสะดวกสบายและความปลอดจากภัยสูง
รถไฟรางคู่ เหมาะสำหรับเดินทางไกล และสามารถจะใช้ความเร็วได้สูงมาก ถ้าหากมีช่องห่างของรางมากด้วย ส่วนใหญ่ช่องห่างจะอยู่ระหว่าง 1.07 เมตร ถึง 3 เมตร
รถรางเดี่ยว เหมาะสำหรับการวิ่งชานเมือง เพราะกินที่น้อย ราคาถูกกว่ารถไฟใต้ดิน แต่ทำลายทัศนียภาพของเมือง
รถราง เหมาะสำหรับวิ่งในเมืองเพราะสามารถใช้ทางร่วมกับยานพาหนะและผู้ใช้ถนนอื่น ๆ
          3.3 พาหนะทางน้ำ
               ก. พาหนะทางน้ำ ได้แก่เรือที่วิ่งในแม่น้ำลำคลองต้องออกแบบให้เหมาะสมกับความกว้างและลึกของ น้ำ ซึ่งจะใช้เป็นเรือสินค้าหรือเรือโดยสารได้เหมือนกับรถที่วิ่งบนถนน เรือส่วนใหญ่ที่ใช้ในแม่น้ำลำคลองจะเล็กกว่าและแตกต่างจากเรือที่วิ่งใน มหาสมุทร อย่างไรก็ตาม แม่น้ำที่อยู่ใกล้ทะเลที่มีความลึกใกล้กับทะเล เรือที่วิ่งอยู่ก็สามารถวิ่งได้ทั้งในแม่น้ำและมหาสมุทรได้
               ข. พาหนะทางทะเล เรือที่วิ่งอยู่ในทะเล มหาสมุทร ส่วนใหญ่มุ่งสู่การค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าด้านสินค้าหรือบริการ ดังนั้น จึงมีขนาดใหญ่มาก และต้องใช้เงินลงทุนสูง เรือต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการใช้
3.4 ยานพาหนะทางอากาศ เครื่องบินเป็นตัวอย่างหนึ่งของอากาศยาน นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ฯลฯ เครื่องบินมีข้อได้เปรียบกว่ายานพาหนะอ่น ๆ คือ บินได้เร็ว ทำให้เวลาในการเดินทางลดลง สามารถบินผ่านสถานที่ทุรกันดารที่เรือและรถเดินทางไปไม่ได้ และเนื่องจากท้องฟ้ามีอาณาเขตกว้างไกล ทำให้ความถี่ของเที่ยวบินสูง ทำให้มีโอกาสเลือกเวลาเดินทางได้ และในปัจจุบันต้นทุนต่อหน่วยผลิตลดลงมาก เมื่อขนาดบรรจุเพิ่มสูงขึ้น เช่น 500 คนต่อลำ นอกจากนี้เครื่องบินยังเป็นพาหนะที่ปลอดภัยที่สุดและไว้ใจได้มากที่สุดด้วย

 

องค์ประกอบในการผลิตบริการขนส่ง
     บริการขนส่งเป็นบริการต่อเนื่อง เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้โดยสารที่ต้องการจะย้ายตัวเองไปอยู่ ณ อีกแห่งหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนสถานที่ หรือต้องการจะให้สินค้า/ของที่เขาเป็นเจ้าของย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่ หนึ่ง องค์ประกอบในการให้บริการขนส่งได้แก่
          1. ยานพาหนะ
          2. เส้นทางทียานพาหนะใช้
          3. สถานประกอบการที่ผู้ใช้บริการต้องมาติดต่อ
          4. สถานี รับ-ส่ง หรือขน-ถ่าย หรือจอด
          5. บุคลากรประจำยานพาหนะ สถานประกอบการและสถานี
          6. ผู้ประกอบการขนส่ง และการประกอบการและสถานี
          7. กฎระเบียบการขนส่งภายใน และระหว่างประเทศ

               1. ยานพาหนะ เมื่อผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการเลือกพาหนะได้ตามความพึงพอใจของตนเองทั้งด้านวิชาการและปฏิบัติอื่น ๆ แล้ว ก่อนจะตัดสินใจซื้อยานพาหนะ สิ่งที่ควรศึกษา ได้แก่
                    1.1 บริการก่อนหลังการขาย และช่วงระหว่างการประกัน ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
                    1.2 ข้อปฏิบัติตามกฏระเบียบของราชการของการนำยานพาหนะไปใช้ทั้งส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์
                    1.3 การทำนุบำรุงรักษาเพื่อให้ยานพาหนะมีอายุงานที่ควรเป็น
                    1.4 สถานที่เก็บ-รักษา (จอด) ยานพาหนะ
                    1.5 การประกันภัยประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                    1.6 รายได้เมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวม

               2. เส้นทาง ที่ยานพาหนะจะต้องใช้ โดยปกติถ้าเป็นรถส่วนบุคคลทุกเส้นทางที่เป็นทางสาธารณะหรือทางเอกชนแต่ดำเนินการ เพื่อสาธารณะก็มีสิทธิใช้ได้ เนื่องจากได้มีเครื่องหมายแสดงสิทธิในการวิ่ง (จากการจ่ายค่าธรรมเนียม/ภาษียานพาหนะ)
แต่ถ้าเป็นยานพาหนะที่จะใช้วิ่งเป็นประจำหรือไม่ประจำจะต้องมีการปฏิบัติตาม การจัดระเบียบการขนส่งประเภทต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย การจะได้มาซึ่งสิทธิในการใช้เส้นทางหนึ่งเส้นทางใดมาผลิตบริการเพื่อขายใน เชิงพาณิชย์นั้น บางครั้งอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากมีผลประโยชน์ชิ้นโตตอบแทนผู้มีโอกาสได้ใช้เส้นทาง เหล่านั้นในเชิงพาณิชย์

               3. สถานประกอบการ หรือสำนักงานการบริการ หรือสำนักงานขาย ผู้ประกอบการเล็ก ๆ อาจมีเพียงโต๊ะเล็ก ๆ ในศูนย์การค้าหรือชุมชนใหญ่ ๆ หรือมีอาคารเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต บริการขายและใช้ติดต่อกับผู้ใช้บริการ/ผู้โดยสาร ในปัจจุบันสถานที่ติดต่อกับผู้ใช้บริการอาจไม่สำคัญเท่าระบบการ ติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการ ทั้งโทรศัพท์ โทรสาร และที่สามารถติดต่อได้ทั่วโลก

               4. สถานีรับ-ส่ง หรือ ขน-ถ่าย หรือจอด ไม่มียานพาหนะใด ๆ ที่จะเคลื่อนที่ไปโดยไร้จุดหมายเมื่อถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ย่อมมีการจอดชั่วคราว หรือการจอดประจำเพื่อบำรุงรักษา และตรวจสอบสภาพของยานพาหนะ ตลอดจนจัดเตรียมของที่จำเป็นต่อยานพาหนะให้ดีพร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้ โดยสารต่อไป จุดจอดเหล่านี้ได้แก่ สถานีรับส่ง ขนถ่าย จอด ซึ่งอาจจะเป็นจุดจอดบังคับตามกฎหมาย/ระเบียบ/ข้อตกลง

               5. บุคคลากรประจำยานพาหนะ สถานประกอบการและสถานี การบริการการขนส่งหรือขนถ่ายไม่อาจดำเนินไปได้หากไม่มีบุคคลากรเข้าไป ปฏิบัติการ ทุกสถานีประกอบการใหญ่เล็ก ย่อมต้องมีบุคลากรประจำงานด้านติดต่อกับภายนอกสถานประกอบการ เช่น หน่วยราชการ บริการ/สิ่งของอื่นที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ใช้บริการคือผู้โดยสาร ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารจะต้องเลือกบุคลากรให้เหมาะแก่/กับงานที่ต้องทำ ดังนั้น เพื่อให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ต้องใช้บุคคลากรที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเป็นหลัก ในขณะที่งานประจำสถานประกอบการ ก็ต้องเลือกคนให้ถูกกับงาน เช่น งานบัญชี การเงิน ต้องหาคนซื่อสัตย์สุจริต

     พนักงานหรือบุคลากรประจำรถซึ่งเป็นผู้ผลิตบริการการขนส่งโดยตรง มีความสำคัญมากต่อเจ้าของกิจการและผู้ใช้บริการ เช่น พนักงานขับรถจะต้องพาสิ่งของ/ผู้โดยสารไปยังจุดหมายอีกจุดหนึ่งได้โดยปลอดจากภัยต่าง ๆ และตรงเวลานัดหมายพอใช้พอดี ในกิจการขนส่งใหญ่ ๆ พนักงานขับรถจะมีหน้าที่ขับยานพาหนะอย่างเดียว แต่ในกิจการเล็ก ๆ พวกเขาอาจรับผิดชอบการขับ ความสะอาด และการทำนุบำรุงยานพาหนะ ส่วนพนักงานอื่น ๆ ประจำรถนั้น อาจมีเพิ่มได้ตามบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากการขนส่งที่จะใช้บริการเพิ่มเติม เช่น อาหาร ในยานพาหนะใหญ่ เช่น เครื่องบิน เรือเดินสมุทร อาจจะต้องมีพนักงานมากถึง 20-50 คนก็ได้ ขึ้นอยู่กับระบบอัตโนมัติที่ติดตั้ง

     บริการที่ผู้ใช้จะได้รับความประทับใจหรือไม่ขึ้นอยูกับปัจจัยที่เป็นมนุษย์เหล่านี้ คุณสมบัติของบุคคลในบริการขนส่ง Mode ต่าง ๆ ดูเหมือนจะแปรไปตามผลตอบแทนที่ได้รับ เช่น พนักงาน ขับเครื่องบิน เรือเดินสมุทรจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ารถประจำทาง

     ในความเป็นจริงบุคลากรในบริการขนส่งประเภทต่าง ๆ ได้รับค่าตอบแทนต่างกันมากจนทำให้เหลือบุคคลที่มีคุณสมบัติ ด้อยกว่าที่ควรจะเป็นในการให้บริการการขนส่ง เช่น พขร. เทียบกับ กัปตันเครื่องบิน อนึ่ง บุคลากรที่อยู่ในธุรกิจขนส่งส่วนใหญ่มักจะมีเส้นทางชีวิต ไม่ราบรื่นนัก โดยเฉพาะในองค์กรเล็ก ๆ ตัวอย่างเช่น จากทำงานเด็กท้ายรถขึ้นไม่เป็น พขร. แล้วก็คงจอด อยู่นานกว่าจะได้เป็นเจ้าของรถ หรือโอกาสที่กัปตันเครื่องบินจะได้เป็นผู้อำนวยการใหญ่

     บุคคลในธุรกิจขนส่ง ได้รับค่าตอบแทนโดยเปรียบเทียบกับในธุรกิจอื่น ๆ ยังต่างกันมากและยิ่งมีการกำหนดราคาขั้นสูงให้กับบริการขนส่ง เช่น ค่ารถเมล์ ขสมก./บขส. ยิ่งจะทำให้มีการไหลออกของคนในอุตสาหกรรมขนส่งต่าง ๆ ไปอยู่กับอุตสาหกรรมที่ใช้ขนส่งเป็นองค์ประกอบด้วย

               6. ผู้ประกอบการขนส่ง และการประกอบการขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่งและการประกอบการขนส่ง หมายถึง ผู้ที่จะผลิตบริการขนส่งให้แก่ผู้ต้องการใช้บริการการขนส่งได้แก่
                    6.1 ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ
                    6.2 ผู้ประกอบการขนส่งตามสัญญา
                    6.3 ผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล
                    6.4 ผู้รับจัดการขนส่ง
                    6.5 ผู้ประกอบการสถานีขนส่ง

               7. กฎระเบียบการขนส่งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ยานพาหนะต่าง ๆ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยทั้งชีวิตและของผู้ใช้บริการ และผู้ปฏิบัติการขนส่ง ตลอดจนยานพาหนะและสิ่งของที่บรรทุก ผู้ปฏิบัติการหรือผู้ขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภท ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ทั้งภายในต่างประเภทศที่ต้องนำยานพาหนะต่าง ๆ ไปใช้

กฎหมายหรือข้อบังคับที่ใช้อยู่ได้แก่ พรบ.รถยนต์ พรบ.ขนส่ง และกฏหมายระหว่างประเทศด้านการบินทะเล

อนึ่ง เพื่อใก้การเดินทางของยานพาหนะเป็นไปโดยสะดวก ปลอดภัย จึงต้องมีหน่วยงานภายใน และระหว่างประเทศที่เป็นผู้ออกกฎระเบียบ และดูแลการปฏิบัติตาม ได้แก่ กรมตำรวจ กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น