“ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต” รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส
“ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต” รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. นำแนวคิด Smart Digital Technologyสร้างความเป็นเลิศบริการขนส่งสาธารณะของไทย ขับเคลื่อน บขส. สู่ Digital Transport”
บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดพิธีลงนามสัญญาว่าจ้าง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต ให้ดำรงตำแหน่ง อย่างเป็นทางการ
วันนี้ (14 ม.ค.64) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาว่าจ้าง ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. โดยมี คณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารระดับสูงของ บขส. ร่วมในพิธี
ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กล่าวว่า ตนพร้อมจะดำเนินงานตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการบริษัทฯ ในการที่จะขับเคลื่อนและพัฒนา บขส. ให้ก้าวไปอย่างมั่นคง และให้ บขส. เป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการด้านการขนส่งสาธารณะ โดยวางแผนจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยใช้ Smart Digital Technology มาเป็นหัวใจในการดำเนินงาน หรือ Digital Transport 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. SMART Station (Modern Bus) การพัฒนาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส. โดยเน้นเรื่อง ความสะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย โดยจะมีการพัฒนาระบบการจองตั๋วโดยสาร ให้ผู้โดยสารสามารถจองผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และปรับลดพื้นที่ห้องขายตั๋ว
ลดการรับเงินสด ตามวิถีใหม่ รวมทั้งนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรภายในสถานี และเพิ่มการเชื่อมต่อระบบขนส่งรถโดยสารสารธารณะให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น (Feeder) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ได้อย่างสะดวก และจะนำระบบ TOC : Transport Operation Center มาใช้แสดงข้อมูลการเดินรถอย่างเรียลไทม์ เพื่อช่วยบริหารและควบคุมการเดินรถให้เป็นไป ตามมาตรฐานที่กำหนดได้มากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่
2. SMART Product & Service มีการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกในรถโดยสาร นอกเหนือจากบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น รวมทั้งมีแผนเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อเมืองหลักกับเมืองรอง รัศมี 300 กิโลเมตร ที่ไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) และเชื่อมเส้นทางจากเมืองหลักหรือเมืองรองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้าง New business model เพิ่มรายได้จาก Facilities ที่มีอยู่เดิม เช่น การสร้างพันธมิตร เพื่อให้บริการขนส่งพัสดุ หรือการทำข้อตกลงความร่วมมือการขนส่งกับ หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น และจะผลักดันเรื่องการรีแบรนด์ บขส. ให้เป็น “Digital Transport” รวมใจพนักงาน เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานสากลและเป็นมืออาชีพ สอดคล้องกับค่านิยม วิสัยทัศน์ และภารกิจต่อไป
3. SMART Asset มีแนวคิดด้านการจัดการกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่แน่นอน โดยจะพิจารณาให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาแบบ PPP ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอยู่ทั้ง 3 แปลงที่คือ สถานีเอกมัย 7 ไร่ สถานีปิ่นเกล้า 15 ไร่ ที่ดินสามแยกไฟฉาย ในเชิงพาณิชย์ ในส่วนของ สถานีหลักคือ จตุจักร และสถานี หมอชิต ต้องมีแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกันกับสถานีกลางบางซื่อ หรือโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
4. SMART Firm ด้วยแนวคิด “องค์กรต้องดำรงอยู่ได้บนผลกำไรของตนเอง” พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ต้นทุนของหน่วยงาน มีการนำเอาเทคโนโลยี Digital มาบริหารจัดการ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ส่วนปฏิบัติการ ให้สอดคล้องกับสภาวะรายได้การเดินรถที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมทันสถานการณ์มีประสิทธิภาพ และเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเตรียมตัวเข้าสู่ “Digital Transport”
อย่างไรก็ดี องค์กรจะก้าวไปข้างหน้าได้ พนักงานในองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายร่วมกัน และพวกเราจะผ่านวิกฤตในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นี้ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งคณบดี คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ กรรมการอิสระของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และจะเริ่มทำหน้าที่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2564 เป็นต้นไป