กจญ.บขส.ชูนโยบายในการขับเคลื่อนและพัฒนา บขส. ให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและมีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการด้านขนส่งสาธารณะ
กจญ.บขส.ชูนโยบายในการขับเคลื่อนและพัฒนา บขส. ให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและมีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการด้านขนส่งสาธารณะ#
ดร. สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แถลงนโยบายในการขับเคลื่อนและพัฒนา บขส. เพื่อให้องค์กรก้าวไปอย่างมั่นคง และมีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการด้านการขนส่งสาธารณะ โดยใช้ Smart Digital Technology 4 ด้าน มาเป็นหัวใจในการดำเนินงานของ Digital Transport ซึ่งประกอบไปด้วย
1. SMART Station (Modern Bus Terminal) การพัฒนาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส. โดยเน้นเรื่อง ความสะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย โดยจะมีการพัฒนาระบบการจองตั๋วโดยสาร ให้ผู้โดยสารสามารถจองผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และปรับลดพื้นที่ห้องขายตั๋ว ลดการรับเงินสด ตามวิถีใหม่ รวมทั้งนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรภายในสถานี และเพิ่มการเชื่อมต่อระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น และจะนำระบบ TOC : Transport Operation Center มาใช้แสดงข้อมูลการเดินรถอย่างเรียลไทม์ เพื่อช่วยบริหารและควบคุมการเดินรถให้เป็นไป ตามมาตรฐานที่กำหนดได้มากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่
2. SMART Product & Service มีการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกในรถโดยสาร นอกเหนือจากบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น รวมทั้งมีแผนเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อเมืองหลักกับเมืองรอง รัศมี 300 กิโลเมตร ที่ไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) และเชื่อมเส้นทางจากเมืองหลักหรือเมืองรองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้าง New business model เพิ่มรายได้จาก Facilities ที่มีอยู่เดิม เช่น การสร้างพันธมิตร เพื่อให้บริการขนส่งพัสดุ หรือการทำข้อตกลงความร่วมมือการขนส่งกับ หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น และจะผลักดันเรื่องการรีแบรนด์ บขส. ให้เป็น “Digital Transport” รวมใจพนักงาน เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานสากลและเป็นมืออาชีพ สอดคล้องกับค่านิยม วิสัยทัศน์ และภารกิจต่อไป
3. SMART Asset มีแนวคิดด้านการจัดการกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่แน่นอน โดยจะพิจารณาให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาแบบ PPP ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอยู่ทั้ง 3 แปลงที่คือ สถานีเอกมัย 7 ไร่ สถานีปิ่นเกล้า 15 ไร่ ที่ดินสามแยกไฟฉาย ในเชิงพาณิชย์ ในส่วนของ สถานีหลักคือ จตุจักร และสถานี หมอชิต ต้องมีแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกันกับสถานีกลางบางซื่อ หรือโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
4. SMART Firm ด้วยแนวคิด “องค์กรต้องดำรงอยู่ได้บนผลกำไรของตนเอง พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ต้นทุนของหน่วยงาน มีการนำเอาเทคโนโลยี Digital มาบริหารจัดการ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ส่วนปฏิบัติการ ให้สอดคล้องกับสภาวะรายได้การเดินรถที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมทันสถานการณ์มีประสิทธิภาพ และเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเตรียมตัวเข้าสู่ “Digital Transport”
ทั้งนี้ในการแถลงนโยบายมีคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วยฝ่ายบริหารการเดินรถ ฝ่ายธุรกิจเดินรถ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายพัฒนาองค์กร สำนักซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ สำนักตรวจสอบภายใน และสำนักอำนวยการ ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานปี 2563 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานและแผนงานที่จะดำเนินงานในปี 2564 โดยมีผู้บริหารระดับผู้อำนวยการกองเข้าร่วมฟังแถลงนโยบาย ณ ห้องมหาราช สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)