ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

A- A A+

ผลการดำเนินงานปัจจุบัน

05-01-2558

(9)

 

1. การพัฒนาช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสาร

          บริษัท  ขนส่ง  จำกัด  ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มาใช้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในส่วนของการบริการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์  โดยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายในการบริการแบบครบวงจร (One Stop Service)โดยจัดให้มีการบริการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านเคาน์เตอร์บริการภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  นอกจากนี้แล้วได้มีการเพิ่มช่องทางในการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสาร  ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้  ณ  ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ  ตัวแทนจำหน่ายตั๋วของบริษัท Thai Ticket Major และผ่าน www.transport.co.th

          ปัจจุบัน  บริษัท  ขนส่ง  จำกัด  ได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารมาอย่างต่อเนื่อง  ในปี 2555 ได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายตั๋วให้สามารถจำหน่ายตั๋วโดยสาร  และการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้าน 7-eleven ทุกสาขา  แล้วนำหลักฐานการชำระเงินมารับตั๋วโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารฯ ก่อนขึ้นรถโดยสารเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ  เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา

 

2. การจัดหาที่ทำการสถานีเดินรถเชียงของ

          บริษัทฯ มีแผนการเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารระหว่างประเทศผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 4  จำนวน  2  เส้นทาง  คือ  เส้นทางเชียงใหม่ – หลวงพระบาง  และเส้นทางเชียงราย – บ่อแก้ว  เพื่อรองรับเส้นทาง R3Aซึ่งเป็นเส้นทางการค้าและการท่องเที่ยว  อีกทั้ง  รัฐบาลได้กำหนดให้อำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าเกษตร  บริษัทฯ จึงคาดว่าความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  ดังนั้น  บริษัทฯ จึงเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเส้นทางดังกล่าว  โดยการปรับเปลี่ยนจุดจอดรถเชียงของให้เป็นสถานีเดินรถอำเภอเชียงของ  และจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ใช้เป็นที่ทำการสถานีเดินรถเชียงของ  เป็นจุดจำหน่ายตั๋วให้บริการผู้โดยสารได้รับบริการที่ดี  มีความสะดวกและปลอดภัย  พร้อมทั้งเป็นที่พักพนักงานประจำรถ  พนักงานประจำสถานี  และจุดจอดพักรถโดยสาร

          บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินจำนวน  4  ไร่  1  งาน  71 9/10  ตารางวา  ราคา  14.8  ล้านบาท  ได้ดำเนินการออกแบบสถานีเดินรถเชียงของเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ประกอบด้วย  อาคารพักผู้โดยสาร  สำนักงาน  อาคารชานชาลา  พื้นที่ขายอาหาร  อาคารพักพนักงาน  และอาคารซ่อมบำรุงรถโดยสาร  โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี  2556  และคาดว่าจะเปิดสถานีเดินรถอย่างเป็นทางการในปี  2557

 

3. การบริหารคุณภาพและพัฒนาบริการ  (รถบริษัทฯ และรถร่วม)

          บริษัทฯ มีนโยบายพัฒนาคุณภาพการบริการ  เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการเดินรถ  โดยจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานคุณภาพบริการรถโดยสารประจำทางของกรมการขนส่งทางบก  สำหรับเส้นทางที่ใกล้หมดอายุใบอนุญาตฯ แก่พนักงานบริษัทฯ  ผู้ประกอบการรถร่วม  และพนักงานรถร่วมที่มีความประสงค์พัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการรถโดยสารประจำทาง  ทั้งรถบริษัทฯ และรถร่วมประจำปี  2555  รวม  32  เส้นทาง  แบ่งเป็นรถบริษัทฯ  7  เส้นทาง  และรถร่วม  25  เส้นทาง  คือ  เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงแสน, กรุงเทพฯ – ขนอม, กรุงเทพฯ – กุมภวาปี – บึงกาฬ, กรุงเทพฯ – ตรัง, กรุงเทพฯ (จตุจักร) – บ้านฉาง – ระยอง, กรุงเทพฯ (จตุจักร) – จันทบุรี, กรุงเทพฯ – ตราด, พิษณุโลก – เพชรบูรณ์, พิษณุโลก – เชียงใหม่, อุดรธานี – หนองคาย, อุดรธานี – นครพนม, อุดรธานี – บ้านไผ่, ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร, สุพรรณบุรี – โคกสำโรง, สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต, สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี – นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่, ตรัง – หาดใหญ่, บุรีรัมย์ – จันทบุรี, กรุงเทพฯ – สุรินทร์ – ศรีสะเกษ, กรุงเทพฯ – พิมาย – พนมไพร, กรุงเทพฯ – บึงกาฬ, กรุงเทพฯ – แม่ฮ่องสอน, กรุงเทพฯ – เขาค้อ, กรุงเทพฯ – สมุทรสงคราม, กรุงเทพฯ – หัวหิน, กรุงเทพฯ – ประจวบคีรีขันธ์, กรุงเทพฯ – ตรัง, กรุงเทพฯ – นครปฐม, กรุงเทพฯ – เทพสถิต – ชัยภูมิ, กรุงเทพฯ (จตุจักร) – ชลบุรี, กรุงเทพฯ (จตุจักร) – พัทยา

       บริษัทฯ และผู้ประกอบการรถร่วม  ได้พัฒนาการให้บริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการรถโดยสารประจำทางของกรมการขนส่งทางบก  พร้อมได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพภายในเกี่ยวกับมาตรฐานการบริการบนรถโดยสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว  จึงได้ยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานคุณภาพบริการรถโดยสารประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก  จำนวน  32  เส้นทาง  เมื่อวันที่  23  กรกฎาคม  2555

          นอกจากนี้  บริษัทฯ ได้จัดการฝึกอบรมพิเศษเพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่  เรื่อง  การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรถโดยสารสาธารณะไทยอย่างไร  มีพนักงานบริษัทฯ และผู้ประกอบการรถร่วมเข้ารับการอบรม  รวม  450  คน

 

4. การพัฒนาองค์กรตามกรอบแนวคิดของระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA)

          ระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจหรือระบบ SEPA (State Enterprise Performance Appraisal)  คือ  กระบวนการประเมินผลรัฐวิสาหกิจรูปแบบใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจนำไปใช้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล  โดยประยุกต์ใช้แนวคิดการประเมินตนเอง (Self-Assessment)  และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ  หรือ  TQA (Thailand Quality Award)  เพื่อมาใช้ประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย  โดยระบบ SEPAแบ่งมุมมองการพิจารณาเป็น  7  หมวด  ได้แก่  หมวด  1  การนำองค์กรรัฐวิสาหกิจ (Leadership)  หมวด  2  การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Planning)  หมวด  3  การมุ่งเน้นลูกค้า  ผู้รับบริการ  และการตลาด (Customer and Market Focused)  หมวด  4  การวัด  การวิเคราะห์  และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management)  หมวด  5  การมุ่งเน้นบุคลากร (Concentrating Personnels)  หมวด  6  การจัดการกระบวนการ (Process Management)  และหมวด  7  ผลสัมฤทธิ์ (Results)  โดยรายงานที่ต้องนำส่งแก่ สคร.  จำนวน  3  รายงาน  คือ

1.       รายงานผลการดำเนินงานตามแนวทาง (Organizational Performance Report)  เป็นรายงานที่แสดงข้อมูลผลการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ  แสดงรายละเอียดตามคำถามเกณฑ์หมวด  1  ถึง  7

2.       รายงานผลการประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Organization Self-Assessment Report : SAR)  เป็นรายงานผลการประเมินองค์กรด้วยตนเอง  โดยใช้แนวทางการประเมินตามแนวทางระบบ SEPA(ADLI สำหรับการประเมินหมวด  1  ถึง  6  และ  LeTCIสำหรับการประเมินหมวด  7

3.       แผนพัฒนาองค์กรตามแนวทาง SEPA (Roadmap for Improvement)  เป็นแผนที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาโอกาสในการปรับปรุง (Opportunities For Improvement : OFIs)  ซึ่งเป็นผลจากการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

          สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)   ได้กำหนดให้ บขส. อยู่ในกลุ่ม BBต้องใช้ระบบประเมินผลตามระบบ SEPAในปี  2557  เป็นต้นไป  บริษัทฯ จึงได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบประเมินดังกล่าวด้วยการพัฒนาองค์กรตามแนวทางระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ  โดยจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA Criteria)  และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ  เพื่อวิเคราะห์องค์กรเบื้องต้นตามเกณฑ์ SEPA (GAP Analysis)  จัดทำบริบทของรัฐวิสาหกิจ  จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน (Organizational Performance Report : OPR)  จัดทำผลลัพธ์ด้านต่างๆ พร้อมทั้งติดตามการจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน  การประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Organization Self-Assessment)  และจัดทำแผนพัฒนาองค์กรตามแนวทาง SEPA (Roadmap for Improvement)

 

5. พัฒนาระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐาน ISO 14001 : 2004

          บริษัทฯ ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ  โดยการนำหลักการของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2004มาดำเนินการให้เป็นระบบ  มุ่งเน้นการควบคุม  ป้องกัน  และลดมลพิษที่เกิดจากกระบวนการทำงาน  ด้วยการจัดให้มีโครงการคัดแยกและจัดการขยะให้ถูกต้องตามกฎหมาย  กิจกรรม 5 ส  โครงการอนุรักษ์และจัดการพลังงาน  ได้จัดทำเอกสารคู่มือการจัดการสิ่งแวดล้อม  ระเบียบปฏิบัติงาน (Procedure)  คู่มือปฏิบัติงาน (Work Instruction)  ตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐาน ISO 14001 : 2004พร้อมได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2004จาก Moody International (Thailand) Ltd.  เมื่อวันที่  18  ตุลาคม  2555

          นอกจากนี้  บริษัทฯ ได้จัดงานวันสิ่งแวดล้อมโดยมีการมอบรางวัลตามโครงการ ISO 14001 : 2004  และจัดกิจกรรม 5 ส  ดังนี้

1.       ตอบปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและเกี่ยวกับ พรบ.ความปลอดภัย  อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  พ.ศ. 2554  พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจและสามารถตอบปัญหาได้ถูกต้องแม่นยำ  ได้รับรางวัล  รวม  7  คน

2.       การประกวดข้อเสนอแนะในการรักษาสิ่งแวดล้อม  การบำรุงรักษาเครื่องมือ  และการใช้วัสดุเหลือใช้  พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะและส่งเรื่องเข้าประกวด  ได้แก่  เรื่องถาดรองแบตเตอรี่  บ่อดักไขมัน  การจัดเก็บสต๊อกยาง  และถาดรองน๊อตล้อ  เป็นต้น

3.       การตรวจประเมินกิจกรรม 5 ส  และ ISO 14001 : 2004  มีหน่วยงานรวม  5  หน่วยงานได้รับรางวัล  ได้แก่  งานคลังอะไหล่  กองซ่อมบำรุง  งานตรวจสภาพรถ  กองตรวจสภาพรถ  งานบัญชี  กองบริหารซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ  และงานบริหารทั่วไป

 

6. การเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว

          ในปี  2555  บริษัทฯ ได้เปิดการเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว  เพิ่มอีกรวม  4  เส้นทาง  คือ  เชียงใหม่ – เชียงราย – หลวงพระบาง, อุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง, กรุงเทพฯ – ปากเซ  และกรุงเทพฯ – นครหลวงเวียงจันทน์  หลังจากที่บริษัทฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว  มาแล้ว  และในอนาคตอันใกล้นี้  บริษัทฯ จะเปิดเดินรถไปยังประเทศกัมพูชา  โดยวิ่งต้นทางกรุงเทพฯ ไปเมืองเสียมราฐและพนมเปญ  ซึ่งจะเป็นการเดินรถที่รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี  2558